post-image

สัมมนา Social Media & Digital Content ฟังอย่างไรให้สร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในยุคดิจิทัล

 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 บุคลากรคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสัมมนา Social Media & Digital Content ฟังอย่างไรให้สร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในยุคดิจิทัล ซึ่งจัดโดย ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ ร่วมกับ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รองศาสตราจารย์ โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธาน และรองศาสตราจารย์ ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงาน เพื่อเสริมกลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่สร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารองค์กร นักประชาสัมพันธ์ และผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาเว็บไซต์ของคณะและส่วนงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
การสัมมนา Social Media & Digital Content ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารในยุคดิจิทัลมาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ การบรรยาย เรื่อง Social Listening สำหรับการสื่อสารองค์กร โดย คุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท Data Research Manager บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด การเสวนา เรื่อง สร้าง Content อย่างไร….ให้โดนใจยุคดิจิทัล โดย คุณปรเมศวร์ ผาทอง บก. Content และ คุณธีรภัทร มณเฑียร บก.วิดีโอ ทีม มช.ทูเดย์ การบรรยาย Social Media & Digital Content พลังออนไลน์ เชื่อมโลก เชื่อมเรา โดย คุณจันทร์เพ็ญ จันทนา ผู้อำนวยการ ผู้บริหารสาย Website, Social Media & Digital Content ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การบรรยาย การสร้างความตระหนักรู้ในการรักษาภาพลักษณ์และผลกระทบด้านชื่อเสียงขององค์กร และคุณภาพของเว็บไซต์องค์กรกับการจัดอันดับ Ranking Web of Universities โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้ช่วยอธิการบดี มช. และ ดร.ณฐนันท์ กาญจนคูหา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มช. โดยหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาได้มีการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในเครือข่ายสื่อสารองค์กรของมหาวิทยาลัยด้วย
.
ความรู้ที่ได้คัดสรรมาเพื่อผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารองค์กร นักประชาสัมพันธ์ และผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาเว็บไซต์ในการสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับประสบการณ์และทักษะที่ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสังคมยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้างสื่อในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ การผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ จากการรับฟังเสียงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายบนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
.
อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและการรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้นการสัมมนาครั้งนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับ Ranking Web of Universities และแนวปฏิบัติคุณภาพของเว็บไซต์องค์กรที่มีต่อผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมการสัมมนาสามารถใช้เป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป